ดิฉันก้าวเข้ามานั่งทำงานเป็นประธานสมาพันธ์สมาคมเครือข่ายคนไทยคู่สมรสต่างชาติ แห่งประเทศไทยเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากปัญหาและวิธีการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองแท้ ๆ ดิฉันจึงเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฯ ได้อย่างลึกซึ้ง ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งสมาพันธ์ฯ ขึ้นมานั้น ดิฉันมีปัญหารุมเร้ารอบตัวมากมาย ในขณะที่ผู้เดือดร้อนรายอื่น ๆ ก็โทรศัพท์เข้ามาขอความช่วยเหลือไม่เว้นแต่ละวัน เพื่อนสนิทของดิฉันหลายๆ คน อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมดิฉันถึงต้องเข้ามาแบกรับปัญหาของคนอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ ตัวของดิฉันเองก็มีปัญหามากมายให้ต้องแก้ไข และเมื่อดิฉันตอบเหตุผลของข้อสงสัยดังกล่าวออกไป ทำให้เพื่อน ๆ ต้องอึ้งกันไปตาม ๆ กัน คุณรู้ไหมว่าเหตุผลของดิฉันคืออะไร เหตุผลของดิฉันก็คือคำถามที่ว่า ปัญหาของดิฉันมีใครช่วยได้บ้าง มีหน่วยงานใด ๆ ในประเทศไทยช่วยเหลือดิฉันได้บ้าง หน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานการกุศล มีหน่วยงานไหนบ้างที่สนใจปัญหาของดิฉันและพร้อมที่จะให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือบ้าง คำตอบคือไม่มี(เหตุผลไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากช่วย แต่เป็นเพราะว่าหน่วยงานราชการเขาทำงานตามอำนาจหน้าที่โดยมีระเบียบเป็นข้อกำหนด) ดังนั้นดิฉันถึงเข้าใจความรู้สึกของคนที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากสมาพันธ์ฯ ได้เป็นอย่างดี ความรู้สึกที่ว่าสมาพันธ์ฯ น่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายให้แก่พวกเขาได้ อย่างน้อยสมาพันธ์ก็พร้อมที่จะรับฟังปัญหาของพวกเขาอย่างจริงใจและเห็นใจในชะตากรรมของพวกเขา ชะตากรรมที่เกิดจากความไม่รู้กฎหมายของพวกเขานั่นเอง ปัญหาคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และปัญหาของคนไทยที่อยู่กินกับคนต่างประเทศในประเทศไทย จะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม บ้างก็แต่งงานและตั้งความหวังไว้อย่างสวยงามว่าหากมีโอกาสได้เดินทางตามสามีไปอยู่ยังต่างประเทศ คงหารายได้ได้เป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการทำงานอยู่ที่ประเทศไทย ไม่ต่างจากความรู้สึกของคนที่ดั้นด้นตั้งอกตั้งใจเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศเช่นกัน พวกเขาตั้งความฝันไว้อย่างสวยหรูว่าต่างประเทศคงเป็นเมืองศิวิไลซ์ เฉกเช่นดังที่ชาวชนบทของไทยเดินทางเข้ามาหางานทำในเมืองหลวง กรุงเทพมหานครนั่นเอง ดิฉันจึงมีความเห็นว่าประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศ อยู่ที่การพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและศักยภาพของคนภายในประเทศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องมีอยู่ในตัวตนของพลเมืองของประเทศทุกคน ไม่ใช่มีอยู่ในกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น