กฎหมายครอบครัว
1. การหมั้น ถ้าหมั้นกันแล้วไม่แต่งงานกัน เช่นผู้ชายตาย ของหมั้นก็เป็นของผู้หญิง ต่อให้ผู้หญิงตาย ของหมั้นก็เป็นมรดกไปสู่ครอบครัวผู้หญิง ถ้าผู้ชายไปมีผู้หญิงอื่น ผู้หญิงก็ริบของหมั้นได้เลย โดยที่ไม่ต้องแต่งงาน
2. เงื่อนไขการสมรส ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกจะใช้นามสกุลตัวเอง หรือนามสกุลสามี หรือจะใช้ทั้งสองอย่างเลยก็ได้ ตรงกันข้ามผู้ชายจะไปใช้นามสกุลไม่ได้ ยกเว้นผู้หญิงจะเป็นต้นของนามสกุล ผู้ชายถึงจะมีสิทธิ์ใช้ได้
3. ทรัพย์สินระหว่างสามี-ภรรยา อะไรที่ได้มาระหว่างการสมรสเป็นสินสมรสทั้งสิ้น ยกเว้นมรดกตกทอดจากพ่อแม่ ฉะนั้นเราเป็นผู้หญิง เราต้องหาผู้ชายที่ทำมาหากิน เพราะผู้ชายทำงานหาเงินมาได้ก็เป็นของเราด้วยเหมือนกัน
4. การหย่า พอจะเลิกกัน อะไรที่เคยหามาได้ตอนที่แต่งงานกัน ต่อให้เป็นชื่อของผู้ชาย ต้องระบุให้ชัดเจนก่อนหย่าเลยนะ ห้ามบอกว่าจะไปตกลงกันเอง เพราะโอกาสโดนเบี้ยวมีสูง ทำให้มันเรียบร้อยก่อนหย่าจะดีกว่า
5. บุตรนอกสมรส หญิงกับชายอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส เวลามีบุตรเกิดมา บุตรจะเป็นบุตรโดยชอบธรรมของฝ่ายหญิง แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของฝ่ายชาย ถ้าเราต้องการให้เขามาเลี้ยงดู แต่เขาไม่มา เราต้องฟ้องต่อศาล ตรวจดีเอ็นเอว่าใช่ เขาต้องจดทะเบียนรับรองบุตรและส่งเสียลูกเราด้วย
6. มรดก ผู้หญิง ผู้ชาย สิทธิเท่าเทียมกัน ต้องได้รับเท่ากัน ในกรณีที่ไม่มีพินัยกรรม ต่อให้เราออกจากบ้านไปนานขนาดไหน เราก็มีสิทธิ์ที่จะได้
กฎหมายแรงงาน
7. สัญญาจ้างแรงงาน ผู้หญิงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน จะมาใช้ให้ทำงานดึก ๆ ดื่น ๆ โดยที่เราไม่เต็มใจไม่ได้ ถ้าท้องก็ต้องให้ลาคลอด 90 วัน หรือทำงานอยู่ดี ๆ โดนให้ออกไม่สมเหตุสมผล ต้องได้ค่าชดเชย ทำงานเกิน 4 เดือนชดเชย 1 เดือน, เกิน 1 ปี ได้ 3 เดือน, เกิน 3 ปี ได้ 6 เดือน มันมีสิทธิ์ของผู้หญิงเยอะมาก เราต้องดูให้ดี
8. กฎหมายการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน นายจ้างที่เป็นชายจะมาล่วงละเมิดลูกจ้างที่เป็นผู้หญิงไม่ได้ ไม่ว่าจะสายตา ท่าทาง คำพูด หรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนได้
กฎหมายแพ่ง
9. การกู้ยืมเงิน ถ้าเราไม่ได้เกี่ยวข้อง อย่าไปเป็นผู้ค้ำประกัน เพราะการเป็นผู้ค้ำประกันเท่ากับการเป็นลูกหนี้เลยนะ เรื่องแบบนี้เราต้องทำความเข้าใจว่า ถ้าค้ำเขาแล้วเขาไม่ส่งหนี้ หนี้จะตกมาที่เราทันทีเลยเหมือนกันนะ
10. การเช่าซื้อกับการขายแบบผ่อนส่ง ถ้าซื้อขายแล้วติดไฟแนนซ์อยู่ อย่างซื้อรถ หากเช่าซื้อแล้วไม่มีปัญญาส่งต่อ เอาไปขายให้คนอื่น แล้วคนอื่นผิดสัญญา แถมยังหารถไม่เจอ ผู้เช่าซื้อตั้งแต่แรกต้องเป็นคนรับผิดชอบนะ ดังนั้นเราต้องจำไว้ จะอาอะไรไปขายต่อใครก็ต้องระวังให้ดี
11. การขายฝาก เวลาเป็นหนี้ใคร เราเอาที่ดินหรือบ้านไปประกัน เวลาเราไม่มีเงินไปจ่ายเขา เขาก็ฟ้องเรา ถ้าเป็นการขายฝากนี่ หากเราผิดสัญญาปุ๊บ เขายึดได้เลย เราไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ใด ๆ เลย
12. การจำนอง ถ้าจะทำเอกสารกู้ยืมอะไร ให้ทำเป็นการจำนอง เพราะถ้าเราขาดส่ง เรายังมีเวลาได้หายใจ ด้วยการยื่นอุทธรณ์ ของของเราก็ยังมีสิทธิ์กลับมาเป็นของเราได้ และถ้ากู้พวกสินไถ่ทั้งขายฝากและจำนอง เขาห้ามคิดดอกเบี้ยเราเกินร้อยละ 15 นะ ถ้าเกินกว่านี้เราฟ้องได้เลย